นายวีรพงษ์ พิทักษ์ไพบูลย์กิจ รองนายกเทศมนตรีนครรังสิต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการตลาดและผู้ขายของในตลาด ณ บริเวณอาคารจอดรถ ชั้น 1 ตลาดรังสิต
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 เทศบาลนครรังสิต โดยงานสุขาภิบาลสถานประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภค กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการตลาดและผู้ขายของในตลาด ณ บริเวณอาคารจอดรถ ชั้น 1 ตลาดรังสิต วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการตลาด และผู้ขายของในตลาดที่พบการปนเปื้อนในอาหารมีความรู้ ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของการพัฒนาตลาดสดให้เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่ปลอดภัย และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานด้านต่างๆ ลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อนเป็นสื่อ และให้ผู้ประกอบการตลาด ผู้ขายของในตลาด เกิดความตื่นตัวและเป็นภาคีเครือข่ายในการพัฒนาตลาดสด ซึ่งคงวิถีไทยที่ถูกสุขลักษณะ
เทศบาลนครรังสิต ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตระหนักและเห็นความสำคัญของสถานที่จำหน่ายอาหารที่อยู่ในเขตเทศบาล โดยเฉพาะตลาดประเภทที่ 1 ที่มีจำนวน 4 แห่ง และตลาดนัด จำนวน 3 แห่ง ให้สามารถตอบสนองความต้องการ ทั้งความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ปัจจุบัน ตลาด อันเป็นสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ผู้ค้าเป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย อาหารที่จัดจำหน่ายในตลาดสดทั่วไป อาจได้รับการปนเปื้อนมาก่อนที่จะถึงตลาด ซึ่งอาจเกิดจากแหล่งผลิตอาหารนั้นเอง หรือปนเปื้อนในขบวนการจัดเก็บหรือขนส่งอาหารสู่ตลาด นอกจากนั้นยังอาจมีการปนเปื้อนขึ้นระหว่างที่วางจำหน่ายอาหารอยู่ในตลาดเนื่องจากการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดีหรือการจัดการตลาดไม่ถูกสุขลักษณะ การสัมผัสอาหารโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในตลาด เมื่ออาหารที่จำหน่ายอยู่ในตลาดมีการปนเปื้อนก็อาจทำให้เชื้อโรค หรือสิ่งเป็นพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารสามารถแพร่กระจายสู่ผู้บริโภคได้ ดังนั้น การป้องกันมิให้อาหารเกิดการปนเปื้อนระหว่างที่จำหน่ายอยู่ในตลาดสดจึงทำได้โดยการควบคุมดูแล เฝ้าระวัง โดยการเก็บตัวอย่างอาหารตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร และการสร้างจิตสำนึกของผู้ประกอบการตลาดและผู้ขายของในตลาดให้เห็นถึงอันตรายของโรคที่เกิดจากอาหารเป็นสื่อ ที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งเป็นพิษ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดสดทั้ง 2 ประเภทให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านอาหารปลอดภัย และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการตลาดและผู้ขายของในตลาด ประจำปี2559 ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้บริหารตลาดรังสิต ให้ความอนุเคราะห์สถานที่จัดการอบรมในวันนี้ ทั้งนี้ นอกจากจะมีกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากร จากหลายหน่วยงานที่มีความรู้ในมาตรฐานการพัฒนาตลาดทั้ง 3 ด้าน อันได้แก่ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านอาหารปลอดภัย และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่กล่าวแล้วนั้น ยังมีนิทรรศการอาหารปลอดภัย Food Safety , ผลิตภัณฑ์ทดแทนโฟม, และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานตลาดรังสิต เป็นต้น ระยะเวลาการอบรม จำนวน 1 วัน โดยมีหัวข้อการอบรม ได้แก่
1. เกณฑ์มาตรฐานตลาดตามกฎหมายและตลาดสดน่าซื้อ
2. พัฒนาตลาดอย่างไรให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
3. สุขลักษณะของผู้ขายของและผู้ช่วยขายของในตลาด
4. อาหารปลอดภัย Food Safety
5. การรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร
6. การสาธิตและฝึกปฏิบัติ การล้างผักอย่างไรให้ปลอดภัย การล้างภาชนะอย่างถูกวิธี การเลือกใช้ภาชนะและการเลือกซื้อเครื่องปรุงอาหาร การตรวจสารปนเปื้อนในอาหารและการตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย การใช้ถังดักไขมันบำบัดน้ำเสีย
7. การสาธิตและฝึกปฏิบัติ การป้องกัน ควบคุมสัตว์ และพาหะนำโรคในตลาด การกำจัดสัตว์พาหะนำโรคในตลาด
ซึ่งในวันนี้มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้ประกอบการตลาดและผู้ขายของในตลาดจากตลาดรังสิต ตลาดนัด 200 ปี ตลาดพระรูปคลอง 2 และตลาดสดสะพานแดง รวมทั้งสิ้น 100 คน
-
นายเพิ่มพงษ์ พุ่มวิเศษ
ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม