กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยงานสุขาภิบาลประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและตรวจเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหารจากแหล่งจำหน่ายอาหารสด ในตลาดสดประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครรังสิต
เมื่อวันที่ 5-6 และ 26-27 กุมภาพันธ์ 2559 กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยงานสุขาภิบาลสถานประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เก็บตัวอย่างและตรวจเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหารจากแหล่งจำหน่ายอาหารสด จากตลาดสดประเภทที่ 1 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดพรพัฒน์ และตลาดสุชาติ ตลาดประเภทที่ 2 ได้แก่ ตลาดนัด 200ปี และตลาดนัดสะพานแดง ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครรังสิต เพื่อเฝ้าระวังสภาวการณ์สารปนเปื้อนในอาหารในเขตพื้นที่และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ให้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อน และส่งผลให้ลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ โดยตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารฟอกขาว และสารกันรา ซึ่งในการลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังในครั้งนี้ใช้ชุดทดสอบภาคสนาม (Test Kits) ซึ่งผลการตรวจเป็นดังนี้
1. บอแรกซ์ ตรวจ 453 ตัวอย่าง ไม่พบสารปนเปื้อน
2. ฟอร์มาลิน ตรวจ 162 ตัวอย่าง พบสารฟอร์มาลีนปนเปื้อนจำนวน 9 ตัวอย่าง
3. สารฟอกขาว ตรวจ 191 ตัวอย่าง ไม่พบสารปนเปื้อน
4. สารกันรา ตรวจ 88 ตัวอย่าง ไม่พบสารปนเปื้อน
สำหรับแหล่งจำหน่ายอาหารสด จากตลาดสด ทั้งตลาดประเภทที่ 1 และตลาดนัดนี้ งานสุขาภิบาลสถานประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดแผนการตรวจไว้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อปี เพื่อการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
-
นายเพิ่มพงษ์ พุ่มวิเศษ
ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม