แม่น้ำเจ้าพระยา : บริเวณหน้าวัดศาลเจ้า วัดศาลเจ้า ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออก บริเวณปากคลองเชียงรากด้านเหนือ (แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า) หมู่ที่ ๓ ต.บ้านกลาง วัดนี้เดิมเป็นศาลเจ้ามาแต่ครั้งโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเจ้าน้อยมหาพรมเชี้อสายเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้มีคุณวิเศษทางไสยศาสตร์ พาไพร่พลล่องแพมาถึงปากคลองเชียงราก ได้พบพระภิกษุมอญ ชื่อ “รุ” มีความสามารถทางวิชาไสยศาสตร์เช่นกัน ได้ลองวิชาอาคมกัน จนเจ้าน้อยมหาพรมเลื่อมใส ได้นำไม้แพมาสร้างเป็นศาลเจ้า เพื่อบูชาคุณพระภิกษุมอญและให้เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาเคารพบูชากราบไหว้ จากนั้นมา เมื่อเรือแพจะผ่านบริเวณหน้าวัดศาลเจ้า จะต้องเซ่นไหว้ด้วยมะพร้าวอ่อนและเครื่องสังเวยอื่น ๆ แล้วตักน้ำปะพรมหัวเรือ เสยผมและดื่มกิน แล้วจึงจะเดินทางต่อไปได้โดยปลอดภัย ซึ่งกระทำมาจนถึงปัจจุบัน และในอดีต เจ้าเมืองปทุมธานีคนก่อน ๆ จะทำพิธีตักน้ำหน้าวัดศาลเจ้า ไปประกอบพิธีศรีสัจจปานกาล คือ ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปีละ ๒ ครั้ง เช่น เจ้าพระยาอารักษ์ประชาราษฎร์ (จำปี) หม่อมเจ้าขจรศักดิ์ศุภสวัสดิ์ และพระยาพิทักษ์ทวยหาญ (ทองคำ กฤษณะมระ) ในปี ๒๕๕๔ จังหวัดปทุมธานี ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดศาลเจ้า ไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ เข้าร่วมในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔