อำเภอธัญบุรี
เดิมชื่ออำเภอรังสิต อยู่ในเขตพระมหานคร ในบริเวณ
  ซึ่งเรียกว่า "ทุ่งหลวง" ขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเทพฯ กระทรวงโยธาธิการ

  ทุ่งหลวงดังกล่าวนี้เป็นพงรกชัฏ ส่วนที่ดินอุดมดี แต่ขาดน้ำ โดยเหตุที่
  ไม่มีลำคลองไหลผ่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมี
  พระราชดำริที่จะแก้ไขเกื้อกูลที่ดินในทุ่งหลวงให้เกิดประโยชน์แก่
  ประชาราษฎรด้วยการที่จะมีคลองขึ้นในบริเวณทุ่งนี้ เมื่อมีผู้ทราบกระแส
  พระราชดำริ จึงได้ชักชวนกันเข้าเป็นบริษัทขุดคลอง ชื่อ "บริษัทขุด
  คลองและคูนาสยาม" แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลอง
  ในทุ่งนี้

     บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ได้ลงมือขุดตลองตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๓
  เป็นต้นมา โดยมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นประธาน
  อำนวยการ ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ เป็นผู้ช่วย เมื่อเสร็จแล้ว พระบาท
  สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า "คลองรังสิต
  ประยูรศักดิ์ คลองนี้เริ่มขุดจากริมน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอ
  เมืองปทุมธานี ตรงไปทางทิศตะวันออกถึงเขตจังหวัดนครนายก ทั้งสอง
  ฝั่งคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีคลองซอยห่างกันประมาณ ๖๐ เส้น  จาก
  คลองที่ ๑ - ๑๗ จึงทำให้น้ำซึ่งไหลมาจากภูเขาบรรทัดผ่านคลองรังสิต
  และคลองซอย ทำให้บังเกิดประโยชน์ทางกสิกรรมแก่ชาวไร่ ชาวนา
  ในแถบนั้นเป็นอย่างยิ่งเป็นเหตุให้ท้องที่แถบนี้เจริญขึ้น กลายเป็นแหล่ง
  ชุมนุมหนาแน่นตามลำดับ

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิทานอัน
  แน่วแน่ที่จะพัฒนาทุ่งหลวงแถบนี้ให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต จึงได้
  เสด็จเปิดเมืองธัญญบุรีด้วยพระองค์เอง ปรากฎตามหลักฐานในหนังสือ
  ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๙ หน้า ๑๐๒๘ สรุปโดยสังเขป ดังนี้
  
    "ที่เมืองธัญญบุรีได้มีการสร้างสถานที่ราชการต่างๆ อาทิ ที่ว่าราชการ
  เมือง ศาล เรือนจำ โรงพักพลตระเวน (สถานนีตำรวจ) บ้านพักผู้ว่า
  ราชการเมือง เป็นต้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว พ.ท.พระฤทธิจักรกำจร ก็ได้
  ตระเตรียมตกแต่งบริเวณสถานที่ด้วยต้นไม้รวงข้าว โคมไฟ ตั้งปรำดาด
  ด้วยฟางข้าวประดับด้วยราชวัตรฉัตรธง (ข้าว) เป็นทิวแถวตลอดสอง

  ข้างทาง ตั้งแต่สะพานท่าน้ำหน้าเมือง และสถานที่อื่นๆ ตลอดคลอง
  รังสิตประยูรศักดิ์ ก็มีการประดับประดาด้วยราชวัตรฉัตรธง (ธงช้าง)
  ต้นไม้ โคมไฟ ตลอดเป็นระยะๆ ตั้งแต่สะพานหน้าเมืองจนถึงสถานีรถไฟ
  รังสิตดูครึกครื้นสวยงามยิ่งนัก"

    ครั้นถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๔๕ เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอม
  เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบทหารเต็มยศ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรม
  โอรสาธิราช (รัชกาลที่ ๗) และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จโดยพระที่นั่ง
  จากวังสวนดุสิตถึงสถานีรถไฟสามเสน ประทับรถพระที่นั่งโดยมีรถไฟใช้
  ฝีจักรจูงรถพระที่นั่งออกจากสถานีรถไฟสามเสนประมาณโมงเศษ ถึง
  สถานีรถไฟคลองรังสิต เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ณ ที่นั้นมีพ่อค้า ประชาชน
  ทั้งเมืองปทุมธานีและเมืองธัญญบุรีมารับเสด็จกันอย่างมากมาย
  พ.ท.พระฤทธิจักรกำจร ผู้ว่าราชการเมืองธัญญบุรี ได้อันเชิญดอกไม้
  ธูปเทียนและเครื่องสักการะบูชาทูลเกล้าถวายเชิญเสด็จเข้าสู่เมือง
  ธัญญบุรีโดยเรือพระที่นั่งชื่อ "สมจิตรหวัง" โดยมีเรือกลไฟลากจูงเรือพระ
  ที่นั่งถึงเมืองธัญญบุรีเวลาประมาณ ๔ โมงเศษ ในระยะทาง ๓๖๘ เส้น
  เมื่อเรือพระที่นั่งเทียบท่าหน้าเมืองแล้ว ณ ที่นั้นได้มีข้าราชการในมณฑล
  กรุงเทพฯ และหัวเมืองตลอดทั้งพ่อค้าประชาชนมารอรับเสด็จอย่างคับคั่ง
  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรม
  วงศานุวงศ์พระราชดำเนินไปประทับ ณ ที่ว่าราชการเมือง ประทับ ณ
  ห้องเจริญพระพุทธมนต์มีพระราชดำรัสกับพระเถระผู้ใหญ่ คือ พระศาสน
  โสภณครู่หนึ่ง แล้วทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและทรงศีลเวลา
  ประมาณ ๔ โมงเศษ ได้พระฤกษ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่
  พระราชบัลลังก์ พ.ท.พระฤทธิจักรกำจร กราบทูลเกล้าถวายชัยมงคลใน
  การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองเสร็จแล้ว นำคำถวาย
  รายงานชัยมงคลพร้อมด้วยประวัติเมืองบรรจุหีบทองคำลงยาราชาวดี
  ซึ่งบรรดาข้าราชการได้พร้อมใจกันทำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จ
  พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ เสร็จแล้วเสด็จออกที่ว่าราชการเมือง
  ทรงชักเชือกเปิดแพรคลุมป้ายชื่อเมืองพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ทหาร
  กองเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประโคมแตรสังข์ ฆ้องชัย
  พิณพาทย์ และได้ชักธงประจำเมืองขึ้นสู่ยอดเสา พระบาทสมเด็จพระเจ้า
  อยู่หัวออกให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เฝ้าชมพระบารมี พ.ท.พระ
  ฤทธิจักรกำจร ผู้ว่าราชการเมือง พร้อมด้วยกรมการในเมืองนี้ได้ทูลเกล้า
  ถวายนามพ่อค้าและราษฎรที่ถวายข้าว ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้า
  อยู่หัวได้พระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญ
  แก่ข้าราชการและกำนัน เสร็จแล้วเสด็จทอดพระเนตรห้องต่างๆ ของ
  ศาลาว่าราชการเมือง และสถานที่ราชการต่างๆ เช่น โรงพักพลตระเวน
  (สถานีตำรวจ) ศาล และโรงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งประดับประดาด้วยต้นข้าว
  และเครื่องจับปลาชนิดต่างๆ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับที่บ้านผู้ว่าราชการ
  เมืองชั้นบน ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงออกเป็นเครื่องทรงธรรมดา และเสวย
  พระกยาหารกลางวัน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการ
  เลี้ยงกันบริเวณรอบๆ บ้านพักผู้ว่าราชการเมืองพระบาทสมเด็จพระเจ้า
  อยู่หัวทอดพระเนตรการแข่งม้า เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จออกพระราช
  ทานแจกเสมาแก่เด็กและประชาชนที่เฝ้าคอย เสร็จแล้วเสด็จพระราช
  ดำเนินกลับประทับเรือพระที่นั่งผ่านวัดมูลจินดารามหยุดเรือพระที่นั่งที่
  สะพานหน้าวัดมูลจินดาราม เสด็จพระราชดำเนินประทับในพระอุโบสถ
  พระปฏิบัติราชประสงค์อ่านคำกราบบังคมทูลที่ได้ทรงพระมหากรุณา
  ธิคุณที่ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาเสร็จแล้วทรงปิดทองศิลานิมิตต์

    สำหรับชื่ออำเภอธัญญบุรี ที่ใช้ "ญ" ตัวเดียวนั้น ใช้ตามประกาศสำนัก
  นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๐ ให้เขียนชื่ออำเภอธัญบุรี มี
  "ญ" ตัวเดียว เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของราชบัณฑิตยสถาน ในเรื่อง
  การเขียนชื่ออำเภอต่างๆ (เดิมอำเภอธัญบุรีมี "ญ" สองตัว)

    เมืองธัญญบุรี แต่เดิมมามีเขตการปกครอง ๔ อำเภอ คือ อำเภอเมือง
  อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง และอำเภอหนองเสือ เมืองธัญญบุรี
  ดำรงสภาพเป็นอยู่นานถึง ๓๑ ปี จากนั้นทางรัฐบาลได้ยุบเมืองธัญญบุรี
  ไปขึ้นกับจังหวัดปทุมธานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ มีฐานะเป็นอำเภอขั้นเอกขึ้น
  กับจังหวัดปทุมธานี