ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของราชการ

การให้บริการงานทะเบียนราษฎร

การแจ้งการเกิด
   หลักเกณฑ์
   เมื่อมีคนเกิดต้องแจ้งชื่อคนเกิดให้ถูกต้องตามหลักการตั้งชื่อบุคคล พร้อมกับการแจ้งการเกิด
    * คนเกิดในบ้าน
    ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดในบ้าน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด
    * คนเกิดนอกบ้าน
    ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันเกิด
    เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
    1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
    2. บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง
    3. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
    4. บัตรประจำตัวบิดามารดาของเด็ก (ถ้ามี)
    ขั้นตอนในการติดต่อ
    1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด
    2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานกับทะเบียนบ้าน และลงรายการในสูติบัตรแล้วเพิ่มชื่อเด็กใน ทะเบียนบ้านและ สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน แล้วมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนให้กับ ผู้แจ้ง

การแจ้งเกิดเกินกำหนด
   หลักเกณฑ์
   เป็นการแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ (15 วัน) ตามกฎหมาย มีบทกำหนดโทษ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา (ถ้ามี)
   3. พยานบุคคลที่ให้การรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน และบัตรประจำตัวประชาชน
   4. รูปถ่ายของบุคคลที่ขอแจ้งการเกิด 1 รูป (กรณีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์)
   5. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานแล้วเปรียบเทียบคดีความผิดและสอบสวนผู้แจ้ง บิดามารดา ให้ทราบสาเหตุ ที่ไม่แจ้งการเกิดภายในกำหนด ในกรณีบิดาหรือมารดาไม่อาจมาให้ถ้อยคำในการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด นายทะเบียนจะบันทึกถึงสาเหตุดังกล่าวไว้
   3. นายทะเบียนนำเสนอนายอำเภอแห่งท้องที่พิจารณาอนุมัติออกสูติบัตร และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

การแจ้งตาย
   หลักเกณฑ์
   เมื่อมีคนตายให้แจ้งการตาย
    * (1) คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตาย ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือพบศพ
    * (2) คนตายนอกบ้าน ให้คนที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ ที่มีการตายหรือพบศพ หรือแห่งท้องที่ ที่จะพึงแจ้งได้ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ กรณีเช่นนี้ จะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจก็ได้ กำหนดเวลาให้แจ้งตาม (1) และ (2) ถ้าท้องที่ใดการคมนาคมไม่สะดวก ผู้อำนวยการทะเบียน กลาง อาจขยาย เวลาออกไปตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ หากไม่ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อและรายการบุคคล (ถ้ามี)
   2. หนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
   3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียน เพื่อตรวจสอบและลงรายการในมรณบัตร
   2. จำหน่ายชื่อผู้ตายออกจากทะเบียนบ้าน โดยจะประทับคำว่า "ตาย" สีแดง ไว้หน้ารายการคนตาย
   3. มอบมรณบัตร ตอนที่ 1 สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนคืนผู้แจ้ง

การแจ้งย้ายออก
   เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่จากบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
   2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
   3. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
   4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมาย)
   5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่กรณีแจ้งย้ายที่อยู่ของตนเอง
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ถึงแม้ว่าเจ้าบ้านไม่สามารถไปแจ้ง ย้ายออกให้ได้ ผู้ที่ย้ายอยู่สามารถขอทำหน้าที่เจ้าบ้านเพื่อย้ายชื่อตนเองออกได้)
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และรายการบุคคลที่จะย้ายออกลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ และจำหน่าย รายการบุคคล ที่ย้ายออกในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยจะประทับคำว่า "ย้าย" สีน้ำเงินไว้หน้ารายการ ฯ และระบุ ว่าย้ายไปที่ใด
   3. นายทะเบียนมอบหลักฐานการแจ้งคืนผู้แจ้ง พร้อมทั้งใบแจ้งย้ายที่อยู่ตอนที่ 1 และ 2 เพื่อนำไปแจ้งย้ายเข้าต่อไป

การแจ้งย้ายปลายทาง
   หลักเกณฑ์
   การแจ้งการย้ายที่อยู่ปลายทาง หมายความว่า การแจ้งการย้ายที่อยู่โดยผู้ขอแจ้งย้าย สามารถไปขอแจ้งย้ายออก และขอแจ้งย้ายเข้า ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ โดยไม่ต้อง เดินทางกลับไปขอแจ้งย้ายออก ณ สำนักทะเบียนเดิมที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน บ้านจากทะเบียนบ้าน
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ของบ้านที่จะย้ายเข้า
   2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย หรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายอื่นพร้อมสำเนา บัตรที่ลงชื่อเจ้าของบัตร กำกับไว้
   3. เจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่
   4. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่
   5. หนังสือยินยอมให้แจ้งย้ายเข้าของเจ้าบ้านที่จะเข้าอยู่ใหม่ (กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถไป ดำเนินการแจ้งย้ายได้)
   6. หนังสือมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่ บัตร ฯ พร้อมด้วยสำเนาบัตร ฯ ที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้ ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ (กรณีผู้แจ้งย้ายที่อยู่มอบผู้อื่นมาดำเนินการแทน ผู้รับมอบหมาย 1 คน ควรดำเนินการแทนผู้ประสงค์ จะแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางได้ไม่เกิน 3 คน และ ทั้ง 2 ฝ่ายควรเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กันไม่ว่าจะเป็นญาติ คนรู้จัก ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่มีนิติสัมพันธ์)

การแจ้งเกี่ยวกับบ้าน
   หลักเกณฑ์
   บ้าน หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือ ซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่หรือยานพาหนะอื่น ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย
   ทะเบียนบ้าน หมายความว่า ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและ รายการของคน ทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน แยกเป็นหลายลักษณะ คือ
   * - ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ใช้สำหรับลงรายการของคนที่มีสัญชาติไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญ ประจำตัวคนต่างด้าว
   * - ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ใช้ลงรายการของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ใน ลักษณะชั่วคราว หรือเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
   * - ทะเบียนบ้านกลาง มิใช่ทะเบียนบ้าน แต่เป็นทะเบียน ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้น สำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน
   * - ทะเบียนบ้านชั่วคราว เป็นทะเบียนประจำบ้านที่ออกให้กับบ้านที่ปลูกสร้างในที่สาธารณะ หรือโดยบุกรุก ป่าสงวน หรือโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ทะเบียนบ้านชั่วคราวเป็นเอกสารราชการใช้ได้ เหมือนทะเบียนบ้าน และผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านชั่วคราวคงมีสิทธิและ หน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
   * - ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน เป็นทะเบียนบ้านที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง กำหนดให้ ทุกสำนักทะเบียนจัดทำขึ้น เพื่อใช้ลงรายการของบุคคลซึ่งขอแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เพื่อเดินทาง ไปต่างประเทศ ให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน บ้านใด ยังไม่มีเลขประจำบ้าน ๆ ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้งเพื่อขอ เลขประจำบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ

การแจ้งขอเลขที่บ้าน
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
   2. หลักฐานแสดงการเป็นเจ้าบ้าน อาทิ โฉนด น.ส.3 ก สปก. 4-01 สัญญาเช่า หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านของเจ้าของที่ดิน
   3. หนังสืออนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคาร (ถ้ามี)
   4. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) (ถ้ามี)
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วไปติดต่อ ณ สำนักทะเบียน ที่ได้ปลูกสร้างบ้าน
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานเมื่อถูกต้องแล้ว จะจัดทำหลักฐานทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน
   3. มอบสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้ง
การแจ้งการรื้อบ้านหรือบ้านถูกทำลายจนหมดสภาพความเป็นบ้าน
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
   2. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) (ถ้ามี)
   3. หลักฐานอื่น เช่น ภาพถ่ายบ้าน
   4. สำเนาทำเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. เมื่อรื้อบ้านหรือบ้านถูกทำลายหมดสภาพความเป็นบ้านแล้วไปติดต่อ ณ สำนักทะเบียน
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานของผู้แจ้ง ตรวจสอบว่าได้มีการรื้อบ้าน เมื่อถูกต้องแล้ว
   3. นายทะเบียนจำหน่ายทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมหมายเหตุการณ์จำหน่ายไว้ และดำเนินการแจ้งย้ายรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ตามระเบียบว่าด้วยการแจ้งการย้ายที่อยู่

เจ้าบ้านและการมอบหมาย
   หลักเกณฑ์
   เจ้าบ้าน หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะ อื่นใดก็ตาม ในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน หรือ เจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญ หรือไม่สามารถปฏิบัติ กิจการได้ ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเป็นเจ้าบ้าน
   หน้าที่ของเจ้าบ้าน
   เจ้าบ้าน เป็นผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งเกี่ยวกับการต่าง ๆ ที่ได้บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 เช่น การแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งย้ายที่อยู่ หรือเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับบ้าน โดยอาจมอบหมายให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้ หากเจ้าบ้านไม่อยู่ เช่น ไปต่างประเทศ หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านผู้หนึ่งผู้ใดสามารถ ดำเนินการแจ้งโดยทำหน้าที่เจ้าบ้านได้ โดยนายทะเบียนบ้านจะบันทึกถ้อยคำ ให้ได้ข้อเท็จจริงว่า บุคคลดังกล่าวเป็น ผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านแทนเจ้าบ้านในขณะนั้น
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้านระบุรายละเอียดชัดเจนว่ามอบให้ใครทำอะไร และลงชื่อผู้มอบ
   2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   3. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
   4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบหมาย หรือผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ไปติดต่อ ณ สำนักทะเบียนที่ปรากฏหลักฐานตามทะเบียนบ้าน
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และดำเนินการตามความประสงค์ของผู้แจ้ง
   3. คืนหลักฐานแก่ผู้แจ้ง

เจ้าบ้านและการมอบหมาย
   หลักเกณฑ์
   ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจ หรือคัดสำเนารายการ หรือให้นายทะเบียนคัดและรับรองซึ่งสำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด หรือทะเบียนคนตาย ได้ที่สำนักทะเบียนในวันเวลาราชการ
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง
   2. เอกสารแสดงความเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
   3. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของประวัติ ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือทายาทเจ้าของประวัติ
   4. เอกสารประกอบการพิจารณา (ถ้ามี)
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียน
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานพิจารณาเป็นผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจ หรือคัดสำเนารายการ

การจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน
   หลักเกณฑ์
   การจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้านมีหลายกรณี ได้แก่
   1. ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านถึงแก่ความตาย
   2. กรณีบุคคลมีชื่อซ้ำในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 แห่ง
   3. กรณีบุคคลมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีรายการบุคคลชื่อซ้ำเกินกว่า 1 แห่ง หรือบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ หรือบุคคลที่ตายไปนานแล้ว หรือบุคคลที่ตายในต่างประเทศ
   2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหรือผู้แจ้ง
   3. ใบมรณบัตร (ถ้ามี)
   4. หลักฐานการตายซึ่งออกโดยสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือหลักฐานการตายที่ ออกโดย รัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งได้แปลและรับรองว่าถูกต้องโดยกระทรวงการต่างประเทศ
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ยื่นเอกสารหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ปรากฏรายการบุคคลที่ต้องการจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานสอบสวนเจ้าบ้านและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือให้ปรากฏข้อเท็จจริง
   3. รวบรวมหลักฐานเสนอผู้มีอำนาจในการอนุมัติแล้วจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน
   4. คืนหลักฐานแก่ผู้แจ้ง

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร
   เอกสารการทะเบียนราษฎร ได้แก่ ทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน สูติบัตร และทะเบียนคนเกิด มรณบัตรและทะเบียนคนตาย ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ เอกสารการทะเบียนราษฎรที่นายทะเบียนมอบให้ประชาชนเก็บรักษาและใช้เป็นหลักฐาน คือ สูติบัตร มรณบัตร สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   หลักเกณฑ์
   เอกสารการทะเบียนราษฎร ที่นายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน จัดทำขึ้นหากจำเป็น ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ จะเป็นเพราะเขียนผิดหรือผิดพลาดเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม จะลบ ขูด หรือทำด้วย ประการใด ๆ ให้เลือนหายไปไม่ได้ แต่ให้ใช้วิธีขีดฆ่าคำหรือข้อความเดิม แล้วเขียนคำหรือข้อความที่ถูกต้องแทน ด้วยหมึกสีแดง พร้อมทั้งลงชื่อนายทะเบียนและวันเดือนปี กำกับไว้
   การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการ มี 3 กรณี
   1. กรณีที่มีเอกสารราชการมาแสดง ไม่ว่าเอกสารนั้นจะจัดทำก่อนหรือหลังการจัดทำ ทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนบ้านฉบับปี พ.ศ. 2499 , พ.ศ. 2515 หรือ ฉบับปี พ.ศ. 2526 หรือใบสำคัญ การเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุลหรือหลักฐานการสมรส หรือการหย่า เป็นต้น
   2. กรณีไม่มีเอกสารราชการมาแสดง
   3. กรณีแก้ไขรายการสัญชาติ
   ผู้มีหน้าที่แจ้ง ได้แก่ เจ้าบ้าน บิดามารดา ผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านหรือผู้ที่เป็น เจ้าของประวัติ
   สถานที่ยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการ
   1. การแก้ไขรายการในทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตร และมรณบัตร ให้ยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียน อำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีชื่อในทะเบียนบ้าน
   2. การแก้ไขรายการในทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย และใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ให้ยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียน ท้องที่ที่จัดทำทะเบียนคนเกิดหรือทะเบียนคนตาย หรือใบแจ้งการย้ายที่อยู่
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   กรณีที่มีเอกสารราชการมาแสดง
   1. เอกสารราชการที่มาแสดงประกอบหลักฐานในการแก้ไขรายการ
   2. บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้านหรือเจ้าของประวัติหรือบิดามารดา)
   3. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   4. สูติบัตร หรือ มรณบัตร
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
   2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานเห็นว่าเอกสารเชื่อถือได้ แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการใน เอกสาร การทะเบียนราษฎรให้ตรงกับ หลักฐาน แล้วมอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน สูติบัตร หรือมรณบัตร คืนผู้แจ้ง

   กรณีที่มีเอกสารราชการมาแสดง
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   1. ผู้ร้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน
   2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   3. พยานบุคคลและบัตรประจำตัวประชาชน
   4. พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่มี
   5. นายทะเบียนสอบสวนพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ แล้วรวบรวมเสนอ นายอำเภอพร้อมด้วย ความเห็นเมื่อนายอำเภอเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ นายอำเภอจะอนุมัติ แล้วสั่งนายทะเบียนให้แก้ไข เปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้
   กรณีการแก้ไขสัญชาติ
   การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการเกี่ยวกับสัญชาติ มี 2 กรณี คือ
   1. กรณีแก้ไขจากสัญชาติอื่นหรือไม่มีสัญชาติ เป็นสัญชาติไทย ให้เสนอ นายอำเภอพิจารณา อนุมัติ (เป็นอำนาจเฉพาะตัวนายอำเภอ)
   2. กรณีแก้ไขจากสัญชาติไทย หรือสัญชาติอื่นหรือไม่มีสัญชาติ เป็นสัญชาติอื่น นายทะเบียนอำเภอหรือ นายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

การเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านมีหลายกรณี ได้แก่
   1. กรณีตกสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2499 (จะต้องเป็นผู้เกิดก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2499)
   2. กรณีเพิ่มชื่อตามเอกสารทะเบียนราษฎรแบบเดิมที่ยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ สูติบัตร ใบแจ้งการย้าย ที่อยู่ และทะเบียนบ้าน
   3. กรณีคนสัญชาติไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือเกิดในต่างประเทศแล้วเดินทางกลับเข้ามา ในประเทศไทย ทั้งที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นคนไทยและไม่มีหลักฐาน
   4. กรณีอ้างว่าเป็นคนไทยแต่ไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง
   5. กรณีเด็กอนาถาซึ่งอยู่ในความอุปการะของบุคคล หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ
   6. กรณีบุคคลที่ลงรายการในทะเบียนบ้านว่า "ตาย" หรือ "จำหน่าย" มาขอเพิ่มชื่อ
   7. กรณีคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
   8. กรณีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
   9. กรณีที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ต่อมาได้รับสัญชาติไทย
   10. กรณีคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยได้รับการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ได้รับอนุญาตตาม กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง รวมทั้งผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย
   5. กรณีเด็กอนาถาซึ่งอยู่ในความอุปการะของบุคคล หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ
   ผู้มีหน้าที่แจ้ง
   ได้แก่ เจ้าบ้าน หรือผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดา หรือมารดา กรณีผู้ขอเพิ่มชื่อเป็นผู้เยาว์ หรือผู้อุปการะ เลี้ยงดู กรณีเด็กอนาถา
   สถานที่ยื่นคำร้อง
   ได้แก่ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาอยู่ใน ปัจจุบันเว้นแต่
   1. กรณีเพิ่มชื่อตามสูติบัตรแบบเดิม ให้ยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนที่ออกสูติบัตรฉบับนั้น
   2. กรณีเพิ่มชื่อตามแบบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ให้ยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนที่ประสงค์จะขอเพิ่มชื่อ
   3. กรณีเพิ่มชื่อตามทะเบียนบ้านแบบเดิม ให้ยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ครั้งสุดท้าย
   4. กรณีเพิ่มชื่อของผู้ที่ลงรายการจำหน่ายหรือตายไว้แล้ว ให้ยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนที่ผู้นั้นเคยมีชื่อ ในทะเบียนบ้าน ก่อนถูกจำหน่ายรายการ
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ
   เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ แบ่งเป็น 2 กรณี
   - กรณีมีหลักฐานมาแสดง
   1. บัตรประจำตัวเจ้าบ้านหรือผู้แจ้ง
   2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   3. รูปถ่ายผู้ขอเพิ่มชื่อ 1 รูป (กรณีผู้ขอเพิ่มชื่ออายุเกิน 7 ปี)
   4. ทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้านฉบับปีพ.ศ. 2499 , พ.ศ. 2515 หรือ พ.ศ. 2526
   5. ใบสูติบัตร (แบบเดิมซึ่งไม่มีเลขประจำตัวประชาชน)
   6. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (แบบเดิมจึงไม่มีเลขประจำตัวประชาชน)
   - กรณีไม่มีหลักฐานมาแสดง
   1. บัตรประจำตัวเจ้าบ้านหรือผู้แจ้ง
   2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
   3. รูปถ่ายของผู้ขอเพิ่มชื่อ 1 รูป (กรณีผู้ขอเพิ่มชื่ออายุเกิน 7 ปี)
   4. บัตรประจำตัวบิดา มารดา (ถ้ามี)
   5. บัตรประจำตัวพยานบุคคลที่ให้การรับรอง
   6. เอกสารประกอบ เช่น หลักฐานการศึกษา (ถ้ามี) ส.ด.9 (ถ้ามี)
   ขั้นตอนในการติดต่อ
   * 1. การยื่นเอกสารและหลักฐาน
    - กรณีมีหลักฐานมาแสดงให้ยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้ร้องขอเพิ่มชื่อปรากฎรายการในเอกสารนั้น ๆ
    - กรณีไม่มีหลักฐานมาแสดงให้ยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ในปัจจุบัน
   * 2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน
   * 3. ตรวจสอบรายการในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร
   * 4. สอบสวนพยานบุคคลที่ให้การรับรอง
   * 5. บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อ ผู้แจ้ง และพยานบุคคลที่ให้การรับรองและให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามแบบ ท.ร.25
   * 6. รวบรวมหลักฐานเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติในการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
   * 7. คืนหลักฐานให้ผู้แจ้ง

ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510

ความหมายของ “ป้าย” ที่ต้องเสียภาษี

   *ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น

   *เพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้

   *แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษรภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น

   *ไม่เป็นป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย

การยื่นแบบ (ภ.ป.1)

1.ป้ายเดิม ยื่นแบบแจ้งแสดงรายการเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

2.ป้ายใหม่ ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ภายใน 15 วัน นับแต่

     2.1 ติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคม

     2.2 ติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิม และมีพื้นที่ข้อความ ภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น

3.กรณีที่มีการโอนป้าย ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนป้ายภายใน 30 วันนับแต่วันรับโอน

4.กรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของป้าย ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้น หรือผู้ครอบครองอาคารที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้ง หรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ

มกราคม – มีนาคม ของทุกปี

ชำระค่าภาษี

ต้องชำระค่าภาษีป้าย ตามที่เจ้าพนักงานประเมิน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน อาจชำระโดย

     1.เงินสด ณ งานผลประโยชน์ สำนักการคลัง เทศบาลนครรังสิต

     2.ตั๋วแลกเงินของธนาคาร หรือเช็คที่ธนาคารรับรอง โดยสั่งจ่ายในนาม “เทศบาลนครรังสิต”

     3.กรณีสั่งจ่ายโดยตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ หรือธนาณัติโปรดสั่งจ่ายในนาม “ผู้อำนวยการสำนักการคลัง” ปณจ. รังสิต 12130 พร้อมสอดซองเปล่าติดแสตมป์ จ่าหน้าซองที่อยู่ของท่าน เพื่อที่จะได้ส่งใบเสร็จรับเงินไปตามที่อยู่ดังกล่าว

ป้ายเดิม ชำระเป็นรายปี (ม.ค. – มี.ค. ทุกปี)

ป้ายใหม่ ชำระตั้งแต่วันเริ่มติดตั้ง หรือแสดงจนถึงวันสิ้นปี และให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวดๆ ละ 3 เดือน เริ่มเสียตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้าย จนถึงงวดสุดท้าย

ชำระค่าภาษีป้าย

การผ่อนชำระ

ถ้าภาษีป้ายมีจำนวนมากกว่า 3,000 บาทขึ้นไปจะขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดๆ ละเท่าๆ กันก็ได้ โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษีดังนี้

   งวดที่1 ชำระก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษี

   งวดที่2 ภายใน 1 เดือน นับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่1

   งวดที่3 ภายใน 1 เดือน นับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่2

     ถ้าผู้ขอผ่อนชำระไม่ชำระภาษีป้ายงวดหนึ่งงวดใดภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น ให้หมดสิทธิ์ที่จะขอผ่อนชำระภาษี และให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของ 1 เดือน ให้นับเป็น 1 เดือน

การขอรับภาษีป้ายคืน

     1.ผู้ใดเสียภาษีป้าย โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิ์ได้รับเงินคืน

     2.การขอรับเงินคืน ให้ยื่นคำร้องต่อนายกเทศมนตรีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีป้ายในกรณีนี้ให้ยื่นคำร้อง ส่งเอกสาร หลักฐาน หรือคำชี้แจงใดๆ ประกอบคำร้องด้วย

การเสียเงินเพิ่ม

     1.ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคม ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่เสียภาษีป้าย

     2.ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม

     3.ไม่ชำระภาษีป้ายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งการประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตามข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้น มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามกรณี

บทกำหนดโทษ

     1.ผู้ใดโดยรู้แล้วหรือจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     2.ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท

     3.ป้ายที่ติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ ของบุคคลอื่น และมีพื้นที่เกิน 2 ตารางเมตร ต้องมีชื่อและที่อยู่ของเจ้าของป้ายเป็นอักษรไทยที่ชัดเจนที่มุมขวาด้านล่างของป้าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

     ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท เรียงรายวันตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิด

     4.ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท

     5.ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการ

     ผู้ใดไม่แสดงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท

     6.ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

       6.1เข้าไปในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย หรือบริเวณที่ต่อเนื่องกับสถานที่ดังกล่าว หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีป้าย ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายได้ปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย

       6.2ออกคำสั่งเป็นหนังสือ เรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชีหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีป้าย ภายในกำหนดเวลาอันสมควร

     ผู้ใดขัดขวาง การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     7.ในกรณีที่ผู้กระทำผิด ซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติ เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม ในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

กฎกระทรวง

ฉบับที่5 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้โดยให้กำหนดอัตราภาษีป้ายดังต่อไปนี้

1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 3 บาท/500 ตร.ซม.

2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและหรือปนกับภาษาและหรือเครื่องหมายอื่น ให้คิดอัตรา 20 บาท/500 ตร.ซม.

3.ป้ายดังต่อไปนี้ ให้คิดอัตรา 40 บาท/ 500 ตร.ซม.

   - ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพ หรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่

   - ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

4.ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขตามมาตรา 14 (3) ให้คิดอัตราตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณีและให้เสียเฉพาะจำนวนเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น

5.ป้ายตาม (1) (2) หรือ (3) เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท

 

• ส่วนพัฒนารายได้ สำนักการคลัง เทศบาลนครรังสิต

• โทร.0-2959-1145

• โทรสาร.0-2567-4873

ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508

ที่ดินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่

     1.ที่ดินของบุคคลหรือคณะบุคคล มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ได้แก่ พื้นที่ดิน ภูเขาหรือน้ำด้วย

     2.ไม่เป็นที่ดินที่ได้รับการยกเว้นภาษีหรืออยู่ในเกณฑ์ลดหย่อน

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่

     1.เจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใดมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้น

     2.ยื่นแบบเป็นรายแปลงตามแบบที่กำหนด

หลักฐานที่ใช้ประกอบในการเสียภาษี

ในปีแรกของการเสียภาษี ควรยื่นเอกสารประกอบ ดังนี้

     1.บัตรประจำตัวประชาชน

     2.สำเนาทะเบียนบ้าน

     3.หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน / บริษัท

     4.หลักฐานที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน ,น.ส.3

     ปีต่อไปให้นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีครั้งสุดท้ายมาแสดงเพื่อความสะดวก

มกราคม – เมษายน ของทุกปี

ยื่นแบบทุกๆ 4 ปี

การยื่นแบบฯ กรณีเป็นเจ้าของที่ดินรายใหม่หรือเนื้อที่ดินเปลี่ยนแปลง

     1.เจ้าของที่ดินเปลี่ยนแปลงจำนวนเนื้อที่ดินหรือเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินขึ้นใหม่ ต้องมายื่นแบบหรือคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดิน ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับโอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้แบบ ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.8 แล้วแต่กรณี

     2.เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแล้ว จะออกใบรับไว้ให้เป็นหลักฐาน

     3.เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบว่าจะต้องเสียภาษีในปีต่อไปจำนวนเท่าใด

อัตราภาษีและการคำนวณภาษี

     1.อัตราภาษีบำรุงท้องที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ แบ่งเป็น 34 อัตรา

     2.ภาษีบำรุงท้องที่ คำนวณจากราคาปานกลางของที่ดิน ที่คณะกรรมการตีราคาปานกลางที่ดินที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีคูณกับอัตราภาษี

ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่

ชำระค่าภาษี

     ต้องชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ภายในเดือนเมษายนของทุกปี แต่ถ้าหากได้รับการแจ้งประเมินหลังเดือนมีนาคมต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งการประเมิน ซึ่งสามารถชำระโดย

     1.เงินสด ณ งานผลประโยชน์ สำนักการคลัง เทศบาลนครรังสิต

     2.ตั๋วแลกเงินของธนาคาร หรือเช็คที่ธนาคารรับรองโดยสั่งจ่ายในนาม “เทศบาลนครรังสิต”

     3.กรณีสั่งจ่ายโดยตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ หรือธนาณัติโปรดสั่งจ่ายในนาม “ผู้อำนวยการสำนักการคลัง” ปณจ. รังสิต 12130 พร้อมสอดซองเปล่าติดแสตมป์ จ่าหน้าซองที่อยู่ของท่าน เพื่อที่จะได้ส่งใบเสร็จรับเงินไปตามที่อยู่ดังกล่าว

การลดหย่อน ภาษีบำรุงท้องที่

     กรณีเจ้าของที่ดินแปลงเดียวกันหรือหลายแปลงที่อยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันและใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตนหรือประกอบกสิกรรมของตน ให้ลดหย่อน ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ตามเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้

     1.นอกเขตเทศบาล ลดหย่อนไม่เกิน 5 ไร่ แต่ไม่น้อยกว่า 3 ไร่

     2.ในเขตเทศบาลตำบล ลดหย่อนไม่เกิน 1 ไร่ แต่ไม่น้อยกว่า 200 ตารางวา

     3.ในเขตเมืองพัทยาและเขตเทศบาลอื่น นอกจาก (2) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100 ตารางวา แต่ไม่น้อยกว่า 50 ตารางวา

     4.ในเขตกรุงเทพมหานครให้ลดหย่อนได้ ดังนี้

     ก.ชุมชนหนาแน่นมากไม่เกิน 100 ตารางวา แต่ไม่น้อยกว่า 50 ตารางวา

     ข.ชุมชนหนาแน่นปานกลางไม่เกิน 1 ไร่ แต่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา

     ค.ในท้องที่ชนบท ลดหย่อนได้ไม่เกิน 5 ไร่ แต่ไม่น้อยกว่า 3 ไร่

เงินเพิ่ม

     1.ไม่ยื่นแบบฯ ภายในกำหนด เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษี เว้นแต่ได้ยื่นแบบฯ ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งเสียเงินเพิ่ม ร้อยละ 5 ของภาษี

     2.ยื่นแบบฯ ไม่ถูกต้อง ทำให้เสียภาษีลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ที่ประเมินเพิ่ม เว้นแต่ได้มาขอแก้ไขแบบฯ ให้ถูกต้องก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้ง

     3.ชี้เขตแจ้งจำนวนเนื้อที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงานสำรวจ ทำให้เสียภาษีน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มอีก 1 เท่า ของภาษีที่ประเมินเพิ่มเติม

การอุทธรณ์

     เมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้ว เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ผ่านเจ้าพนักงานประเมินภายใน 30 วัน วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

     การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาล

     ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์

การขอคืนภาษีบำรุงท้องที่

     ผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรจะต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิขอรับเงินคืนภายใน 1 ปีได้ โดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีบำรุงท้องที่

บทกำหนดโทษ

     1.ผู้ใดแจ้งข้อความหรือถ้อยคำอันเป็นเท็จฯ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     2.ผู้ใดจงใจไม่มา / ยอมชี้เขต / ไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     3.ผู้ใดขัดขวางเจ้าพนักงานสำรวจที่ดิน / เร่งรัดภาษีค้างชำระ / การปฏิบัติตามหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     4.ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานสั่งให้มาให้ถ้อยคำ / ส่งบัญชี / เอกสารมาตรวจสอบ / สั่งให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีค้างชำระ / ไม่มาให้ถ้อยคำ / ไม่ส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหนังสือเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

• ส่วนพัฒนารายได้ สำนักการคลัง เทศบาลนครรังสิต

• โทร.0-2959-1145

• โทรสาร.0-2567-4873

ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2534

ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร

     ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

ทรัพย์สินใด อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ 

     มีหลักในการพิจารณาดังนี้

     1.ต้องมีทรัพย์สินอันได้แก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นและ

     2.ต้องไม่เข้าบทยกเว้นภาษีตาม พ.ร.บ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2)

     1.หากเจ้าของทรัพย์สินอันได้แก่ โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และที่ดิน เป็นเจ้าของเดียวกัน เจ้าของทรัพย์สินนั้นก็เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

     2.แต่ถ้าที่ดินและโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ เป็นคนละเจ้าของ กฎหมายกำหนดให้เจ้าของโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ ต้องเป็นผู้เสียภาษี

มกราคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ยื่นแบบ (ภ.ร.ด. 2)

     ยื่นแบบแจ้งแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน

     ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง การประเมิน (ภ.ร.ด.8) อาจชำระโดย

     1.เงินสด ณ งานผลประโยชน์ สำนักการคลัง เทศบาลนครรังสิต

     2.ตั๋วแลกเงินของธนาคาร หรือเช็คที่ธนาคารรับรอง โดยสั่งจ่ายในนามเทศบาลนครรังสิต

     3.กรณีสั่งจ่ายโดยตั๋วแลกเงิน ไปรษณีย์ หรือธนาณัติ โปรดสั่งจ่ายในนาม ผู้อำนวยการสำนักการคลัง ปณจ. รังสิต 12130 พร้อมสอดซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

การอุทธรณ์ค่าภาษีโรงเรือน

     ถ้าผู้รับประเมิน ไม่พอใจการประเมินภาษี โรงเรือนฯ ให้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ (ภ.ร.ด.9) ต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายในกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน (ภ.ร.ด.8) ถ้ายื่นอุทธรณ์เกินกว่า 15 วัน จะหมดสิทธิ์ให้พิจารณาการประเมินใหม่ และจำนวนค่าภาษีซึ่งประเมินไว้นั้นถือเป็นจำนวนเด็ดขาด ห้ามไม่ให้นำคดีขึ้นสู่ศาล

ศาลภาษีอากร ม.31

     ถ้าผู้รับประเมินยังไม่พอใจในคำชี้ขาดของคณะผู้บริหาร มีสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาลจังหวัด หรือศาลภาษีอากรกลางกรุงเทพฯ เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำชี้ขาด มิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาล

การบังคับชำระค่าภาษี

     ถ้าไม่ชำระค่าภาษี และเงินเพิ่ม ภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนด 30 วัน นายกเทศมนตรีอาจสั่งเป็นหนังสือให้ยึดอายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษีเพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมิต้องขอให้ศาลสั่ง หรือออกหมายยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม

การเสียเงินเพิ่ม

     ถ้าค่าภาษีมิได้ชำระภายในกำหนด 30 วัน ต้องเสียเงินเพิ่มดังนี้

     1.ถ้าชำระไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดเพิ่มร้อยละ 2.50 ของค่าภาษีที่ค้าง

     2.ถ้าเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือน เพิ่มร้อยละ 5 ของค่าภาษีที่ค้าง

     3.ถ้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน เพิ่มร้อยละ 7.50 ของค่าภาษีที่ค้าง

     4.ถ้าเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน เพิ่มร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ค้าง

หลักการประเมินค่าภาษี

     พนักงานเจ้าหน้าที่ จะประเมินค่าภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี

     ค่ารายปี หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ

     กรณีให้เช่า ให้ถือค่าเช่าคือค่ารายปีพนักงานเจ้าหน้าที่ จะประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สิน ที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตเทศบาลนั้น

การแจ้งประเมินย้อนหลัง

     กรณีผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี หรือยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลัง ดังนี้

     1.ไม่ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี

     2.ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี

ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475

     ม.46 ผู้ใดละเลยไม่ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) เว้นแต่จะเป็นด้วยเหตุสุดวิสัย มีโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

     ม.47 ผู้ใด โดยรู้อยู่แล้ว หรือจงใจละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งรายการเพิ่มเติมละเอียดยิ่งขึ้นเมื่อเรียกร้อง ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถามมีโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

     ม.48 ผู้ใด

     ก.โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยคำอันเป็นเท็จ หรือนำหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือจัดหาทางให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยง การคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตน

     ข.โดยความเท็จ โดยเจตนา ละเลย โดยฉ้อโกง โดยอุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้นที่จะหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องยื่นแบบแจ้งแสดงรายการเพื่อเสียภาษี (ภ.ร.ด.2)

√ เป็นที่ให้เช่า

√ เป็นที่ประกอบการค้า

√ เป็นที่ไว้สินค้า

√ เป็นที่ประกอบอุตสาหกรรม

√ เป็นที่ให้ญาติ พ่อ แม่ พี่ น้อง บุตรหรือผู้อื่นอยู่พักอาศัย

 

• ส่วนพัฒนารายได้ สำนักการคลัง เทศบาลนครรังสิต

• โทร.0-2959-1145

• โทรสาร.0-2567-4873

ติดต่อเรา

  • เลขที่ 151 ถนนรังสิต-ปทุมธานี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12130
  • 0-2567-6000
  • Fax : 02-567-6000 ต่อ 131
  • rangsitcity@gmail.com
  • facebook : เทศบาลนครรังสิต
  • Line ID : @rangsitcity
  • Twitter : Rangsit City

Login Form

มี 15 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

ผู้ชม:  
19
เนื้อหา:  
3244
เว็บลิงก์:  
39
เนื้อหาที่เปิดอ่าน:  
4308526
-->