∞∞ ประวัติศูนย์กู้ชีพ - กู้ภัย เทศบาลนครรังสิต ∞∞
ศูนย์กู้ชีพ - กู้ภัย เทศบาลนครรังสิต ชื่อเดิมศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเทศบาลเมืองรังสิต เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดย ดร.เดชา กลิ่นกุสุม (อดีตนายกเทศมนตรีเมืองรังสิต) และได้มอบหมายให้ นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม (ปัจจุบันนายกเทศมนตรีนครรังสิต) เป็นผู้ควบคุมดูแลงานศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเทศบาลเมืองรังสิตทั้งหมด ศูนย์จัดตั้งอยู่ที่ ศูนย์สาธารณสุข 2 ติดกับเทศบาลเมืองรังสิต เลขที่ 22 ถนนรังสิต - ปทุมธานี 10 หมู่ที่ 2 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ในหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี

ศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเทศบาลเมืองรังสิตอยู่ในสังกัดกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมโดยมีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ควบคุมและดูแลการปฏิบัติงาน ศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วย มีรถพยาบาลฉุกเฉินจำนวน 2 คัน ภายในรถพยาบาลมีอุปกรณ์การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทุกชนิด เช่น อุปกรณ์ทำแผล อุปกรณ์ช่วยหายใจ ออกซิเจน อุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้าย อุปกรณ์ดามแขน ขา หลัง คอ ที่ทันสมัย โดยให้บริการประชาชนภายในเขตเทศบาล

ลักษณะการให้บริการ ให้บริการรับ - ส่งผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยตรวจตามแพทย์นัดที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ประสบอุบัติเหตุต่างๆ โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยมีการจัดเวรเป็นผลัดๆ ละ 8 ชั่วโมง แต่ละผลัดมี 2 ทีมๆ ละ 3 คน ภายใน 1 ทีมประกอบไปด้วย พยาบาลวิชาชีพ 1 คน พนักงานปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น 1 คน พนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน 1 คน เทศบาลเมืองรังสิตเป็นหน่วยงานแรกของท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี ที่เปิดให้มีศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยของหน่วยงานราชการท้องถิ่น และให้บริการผู้เจ็บป่วยภายในเขตเทศบาลรับผิดชอบ
ปี พ.ศ. 2551 นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม (รองนายกเทศมนตรีเมืองรังสิตในขณะนั้น) ได้เล็งเป็นความสำคัญของประชาชน จึงให้ศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเข้าร่วมกับหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดปทุมธานี หรือ สายด่วน 1669 ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ. รวมทั้งยังมีทีมอาสาสมัคร First Responder : FR ภาคประชาชนนำรถส่วนตัวมาเข้าร่วมในเครือข่าย จำนวน 5 คัน หรือ 5 ทีม ๆ ละ 3 คน ซึ่งรถแต่ละคันพร้อมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ถูกต้องตามกฎระเบียบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ. โดยมีโรงพยาบาลปทุมธานีเป็นแม่ข่ายอันดับ 1 ของจังหวัด โรงพยาบาลประชาธิปัตย์เป็นแม่ข่าย และ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นแม่ข่ายค้างเคียง โดยเปิดให้บริการตามระบบและระเบียบของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ. ที่กำหนดทุกประการ ในขณะเดียวกันศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเทศบาล ก็ได้ให้บริการรับ - ส่งผู้ป่วยตามแพทย์นัด ผู้ป่วยเรื้อรังควบคู่ไปด้วยกันตามนโยบายของผู้บริหาร และความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตเทศบาลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเทศบาล ได้ย้ายหน่วยงานจากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มาสังกัดฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักปลัดเทศบาล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการออกปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ร่วมกับหน่วยกู้ภัย และการวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยกู้ภัย เนื่องจากสองหน่วยงานนี้เวลาเกิดอัคคีภัย อุทกภัย หรือ อุบัติเหตุหมู่ต่าง ๆ หน่วยกู้ชีพ และ หน่วยกู้ภัย สองหน่วยงานนี้ต้องออกปฏิบัติหน้าที่พร้อมกัน ตามนโยบายของผู้บริหารเทศบาลที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และประชาชนภายในเขตเทศบาล
วันที่ 22 มีนาคม 2553 ศูนย์รับ - ส่งผู้ป่วยเทศบาลเมืองรังสิตได้ย้ายสถานที่ตั้งจากศูนย์สาธารณสุข 2 ภายในหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ไปอยู่บริเวณใต้ทางต่างระดับสะพานแก้วติดคลองรังสิต ซึ้งเป็นอาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ศูนย์กู้ชีพ - กู้ภัยเทศบาลเมืองรังสิต
ปี พ.ศ. 2554 เทศบาลเมืองรังสิตได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครรังสิต ศูนย์กู้ชีพ - กู้ภัยได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น ศูนย์กู้ชีพ - กู้ภัยเทศบาลนครรังสิต จนถึงปัจจุบัน โดยมีนายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม เป็นนายกเทศมนตรีนครรังสิต