ประวัติความเป็นมา ศาลเจ้าไต้เซี่ยหุกโจ้ว (เจ้าพ่อเห่งเจีย) ตั้งอยู่ ณ ถนนเลียบคลองรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จากการเล่าขานถึงตำนาน และความเชื่อของผู้คนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ ณ เมืองรังสิต ย้อนไปประมาณเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว มีอาแปะแก่ๆ ชาวจีนคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่บนเรือกำปั่น ได้เป็นผู้ที่พบเห็นรูปปั้นเจ้าพ่อเห่งเจีย มีลักษณะความสูงประมาณ 5 - 6 นิ้ว อยู่ในท่ายืนกระบอง ลอยน้ำ ขึ้นมาที่ด้านหน้าตลาดดปากคลองหนึ่งเก่า (ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งศาลเจ้าคลองหนึ่ง) โดยแต่เดิมบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยบรรดาพ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนที่อพยพที่มาตั้งหลักปักฐานทำมาหากินอยู่ ณ เมืองรังสิตแห่งนี้ ด้วยการประกอบอาชีพต่างๆ อาทิเช่น ร้านกาแฟโบราณ เรือน้ำมัน ร้านขายของโชห่วย ร้านขายทอง โรงงานน้ำปลา โรงงานขนมปัง โรงงานไม้ขีด โรงงานปลาทูนึ่ง ฯลฯ ซึ่งได้ถือว่าบริเวณศาลเจ้าคลองหนึ่งแห่งนี้ในสมัยก่อน จะอบอวนไปด้วยกลิ่นไอของตลาดน้ำริมคลองและคึกคักเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่ต่างทำมาค้าขายกัน ณ บริเวณริมคลองแห่งนี้
จากการสืบหาประวัติความเป็นมา ด้วยการบอกเล่าของคนเก่า คนแก่ ที่อยู่มาตั้งแต่ยังไม่มีการก่อสร้างศาลเจ้าคลองหนึ่งแห่งนี้ ได้ความว่า คนที่พบรูปปั้นเจ้าพ่อเห่งเจียคนแรกนั้นเป็นอาแปะแก่ๆ ชาวจีนคนหนึ่ง โดยพบเห็นรูปปั้นเจ้าพ่อเห่งเจีย ลอยน้ำมาบริเวณริมคลองด้านหน้าตลาด (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้า) หน้าตลาดปากคลองหนึ่ง ซึ่งกำลังลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำด้านหน้าต้นไทร ต่อมาคนแถวนี้เรียกอาแปะว่า "ผู้มีพระคุณ"
อาแปะผู้นี้เก็บขึ้นมาบูชาที่ร้านค้าของอาแปะ จึงเป็นที่รู้กันว่าผู้คนแถวนี้ จะนำของมากราบไหว้บูชา เพราะเชื่อกันว่า เจ้าพ่อได้นำพาความสุข ความเจริญรุ่งเรืองมาให้ทุกคน และในเวลาต่อมา ได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าให้กับเจ้าพ่อเห่งเจีย (ไต้เซียหุกโจ้ว) ในปี พ.ศ.2524 เพื่อนำองค์เจ้าพ่อเห่งเจีย มาประทับไว้ที่ศาลเจ้า เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองรังสิต (คลองหนึ่ง) ที่นับถือได้มาสักการะ บูชา และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันต่อไป
สำหรับการจัดงาน ฉลองศาลเจ้าเห่งเจีย (ไต่เซียหุกโจ้ว) ครั้งแรกได้จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 โดยมีการสร้างเหรียญเงิน และล๊อกเก็ต รูปเจ้าพ่อเห่งเจียขึ้นมาเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาและเลื่อมใสได้นำไปบูชา โดยเหรียญที่จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกจะมีลักษณะเป็นเหรียญเงิน ด้านหน้าเป็นรูปเจ้าพ่อเห่งเจีย พิมพ์นูนลอยด้านหลังเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิมพระโพธิสัตย์ โดยครั้งแรกได้จัดทำเหรียญดังกล่าว จำนวน 99 เหรียญ อีกทั้งยังจัดให้มีการสร้างล็อกเก็ตรูปเจ้าพ่อเห่งเจียขึ้นอีกชุดหนึ่งในคราวเดียวกัน
กำหนดวันไหว้ศาลเจ้า วันเกิดเจ้าพ่อเห่งเจีย (ไต่เซียหุกโจ้ว) ของทุกปี ณ ศาลเจ้าตลาดปากคลองหนึ่ง ดังนี้
วันที่ 1 (โป้ยว้วยจั๊บโหงว) วันไหว้พระจันทร์
(ตอนกลางคืน) จัดให้มีการเซ่นไหว้บูชาพระจันทร์ (ไป้ว้วยเนี้ย) พร้อมจัดให้มีมหรสพ
วันที่ 2 (โป้ยว้วยจั๊บลัก) วันเกิดเจ้าพ่อเห่งเจีย ไต่เซียหุกโจ้ว (ฮุดโจ้วแซ)
(เช้า) จะมีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน จะนำของเซ่นไหว้มาสักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมร่วมทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ณ บริเวณด้านหน้าศาลเจ้า
วันที่ 3 (โป้ยว้วยจั๊บชิก) วันไหว้ผีไม่มีญาติ
(บ่าย) จัดให้มีพิธีเซ่นไหว้ หอเฮียตี๋ (ไหว้ผีไม่มีญาติ) พร้อมทำพิธีทิ้งกระจาด แจกข้าวสารแก่บุคคลทั่วไป พร้อมจัดงานมหรสพ 3 วัน 3 คืน
จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2549 โดยการนำของนายเดชา กลิ่นกุสุม อดีตนายกเทศมนตรีเมืองรังสิต ได้จัดตั้งมูลนิธิไทรทองรังสิตสงเคราะห์ (ไต่ เซีย หุก โจ้ว) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย และผู้ยากไร้ โดยถือเป็นองค์กรเพื่อสาธารณะกุศล ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ในนามมูลนิธิฯ
มูลนิธิรวมใจรังสิตปทุมธานี (ไต่ฮงกง) เริ่มก่อตั้งมาประมาณ 40 ปี เดิมอยู่แถวตลาดล่าง ย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ 20 ปี ตอนนั้นเป็นสมาคมประชาธิปัตย์ ให้ความช่วยเหลือบริจาคโลงศพ หรือคนในพื้นที่ต้องการใช้พื้นที่จัดงานศพ เทศกาลกินเจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีคณะกรรมการ 99 ท่าน วาระละ 4 ปี แล้วจะทำการเลือกตั้งใหม่การสร้างมูลนิธิฯ ได้เงินจากพ่อค้า แม่ค้า และชาวบ้านในจังหวัดปทุมธานีร่วมกันทำบุญ ซึ่งส่วนมากจะเป็นชุมชนในย่านรังสิต มีงานประเพณีทิ้งกระจาด (ซี้โกว) มีแจกทาน ข้าวสารอาหารแห้งในวันที่ 20 - 22 สิงหาคม ของทุกปี ตามประเพณีของคนจีนจะเป็นวันที่ 3 เดือน 7 มูลนิธิจะจัดงานทิ้งกระจาด ซึ่งเชื่อกันว่ายมโลกจะเปิดประตูให้ผีไม่มีญาติมาหากินในเดือน 7 ทั้งเดือน มีคนทรงดูฤกษ์ โดยจัดทำเป็นประเพณีทุกปี
ศาลเจ้าไต่ฮงกง มีองค์ไต่ฮงกง (หลวงปู่ไต่ฮงกง) เป็นพระประธาน ซึ่งท่านเป็นพระในด้านการรักษา และในที่นี้จะมีองค์เทพอีกหลายองค์ให้ได้มากราบไหว้บูชา ในส่วนของชั้น 2 จะมีหลวงพ่อโสธรประดิษฐานอยู่ด้วย ในด้านประติมากรรม ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นศิลปะแบบใด รูปแบบก็จะเป็นเหมือนศาลเจ้าอื่นๆ ทั่วไป
เทศกาลที่ทางมูลนิธิจัดทำขึ้นทุกปี
1. ประเพณีทิ้งกระจาด ในวันที่ 20 - 22 สิงหาคม ของทุกปี
2. เทศกาลกินเจ จัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคม ของทุกปี
3. วันคล้ายวันเกิดขององค์ไต่ฮงกง ซึ่งชาวบ้านที่นับถือก็จะมาร่วมเฉลิมฉลองกัน โดยจะจัดงานประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองรังสิต ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองรังสิต เป็นศาลเก่าแก่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อสักการบูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ศาลเจ้าฯ หลังเก่านั้นสร้างมากว่า 70 ปี แต่ด้วยความเจริญเติบโตมีการถมพื้นที่ให้สูงขึ้นแต่พื้นที่บริเวณศาลเจ้าฯ นั้นไม่ได้ยกระดับ พอเวลาฝนตกน้ำท่วม คณะกรรมการฯจึงลงความเห็นว่าควรที่จะบูรณะศาลเจ้าให้สูงขึ้น ตามธรรมเนียมของจีนนั้นต้องขออนุญาตจากศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่โดยทำการโยนไม้เพื่อขออนุญาตบูรณะศาลเจ้า ซึ่งผลออกมาเป็นอนุญาตจึงได้ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อปลายเดือนมกราคม 2550 ซึ่งชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมทุนกันสร้างใหม่ ซึ่งมีพิธีเปิดฉลองเดือนธันวาคม 2552
ในศาลมีองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่คลองรังสิตประจำท้องถิ่นประทับอยู่ตรงกลาง ทางด้านซ้ายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ด้านขวาเป็นพระแม่โพธิสัตย์ (เจ้าแม่กวนอิม) แต่เดิมในศาลมีองค์พระอยู่ 5 องค์ คือ เจ้าพ่อเจ้าแม่คลองรังสิต พระแม่โพธิสัตย์ (เจ้าแม่กวนอิม) เทพเจ้าแห่งโชคลาภ กวนอู ขณะนี้กำลังสร้างศาลประทับเพิ่มเติมทางด้านหลังเพื่อนำ เทพ 8 เซียนมาประทับ
รูปแบบการสร้างศาลเป็น 3 ช่วง มีในส่วนท้องพระโรง ที่ประทับข้างใน และทางด้านนอกเป็นศาลที่ตั้งไว้สักการะบูชา
สถาปัตยกรรม เป็นการนำสถาปัตยกรรมจีนมาประยุกต์ ผสมผสานโดยสอบถามจากผู้รู้
จิตรกรรม ภาพวาดที่ฝาผนังเป็นภาพวาดของวิเศษขององค์ 8 เซียน ทั้ง 2 ข้าง มีข้างละ 4 ภาพ มีภาพ 8 เซียน 1 ชุด มีนางฟ้า 1 ชุด หน้าซุ้มประตูมีมังกร 1 คู่ ให้พร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย มีเหรียญเงิน เหรียญทอง เมื่อสักการะจะได้รับสิ่งดีๆ จะได้ร่ำรวยเงินทอง
ศาลหลักเมืองรังสิต สืบเนื่องจากการสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี โดยนายสุธี โอบอ้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่ 1 ต.ค.2519-30 ก.ย.2521) ดำริเห็นเป็นสำคัญว่า ควรจะสร้างศาลหลักเมืองไว้ให้มั่นคง เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวปทุมธานี พร้อมทั้งให้เกิดความรักสามัคคีกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังนำความสงบสุข ร่มเย็น มาสู่เมืองด้วยความดำรินี้จึงเห็นพ้องต้องกันระหว่างข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชน ได้ร่วมกันสละทรัพย์คนละเล็กละน้อย ดำเนินการสร้างศาลหลักเมืองขึ้น
ในการนี้ทางกรมศิลปากรได้เป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาศาลหลักเมือง ซึ่งทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ที่ทางกรมป่าไม้ได้นำมาจากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มอบให้ดำเนินการสร้างศาลหลักเมืองปทุมธานี เริ่มทำพิธีสะเดาะพื้นที่ที่จะสร้างศาลหลักเมือง เพื่อความสวัสดิมงคลเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 วางศิลาฤกษ์หลักเมืองปทุมธานี วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ.2500 ตรงกับเวลา 15.00 น. เดือนยี่ ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะโรง
กรมศิลปากรออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำเข้าพระตำหนักสวนจิตรลดา เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 9) ทรงเจิมเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2521 เวลาฤกษ์ 08.29 น. และในคืนนี้เวลาประมาณ 5 ทุ่ม ได้เกิดจันทรคลาสจับครึ่งดวงเป็นที่อัศจรรย์ พิธียกเสาหลักเมืองปทุมธานี วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2521 ศาลหลักเมืองปทุมธานีจึงตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี
ไม้ชัยพฤกษ์จากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นไม้มงคลอย่างยิ่ง ได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างดี ลำต้นใหญ่ เมื่อกรมศิลปากรออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมืองปทุมธานีแล้ว ยังมีส่วนเหลือของลำต้นที่สวยงามของไม้ชัยพฤกษ์ คณะกรรมการดำเนินงานจึงดำริจัดสร้างเสาหลักเมืองอีกสี่มุมเมือง
เทวดาผู้ปกป้องรักษาศาลหลักเมืองทุกมุมทิศของจังหวัดปทุมธานี
ศาลหลักเมือง-อ.เมือง ท่านศรีวิมุติ
ทิศเหนือ-อ.หนองเสือ ท่านศรีสุวรณ
ทิศตะวันตก-อ.ลาดหลุมแก้ว ท่านศรีรังสรรค์
ทิศตะวันออกอ.ธับุรี (รังสิต) ท่านศรีรามภพ
ทิศใต้-อ.ลำลูกกา ท่านศรีพยัพ
มุมเมืองด้านทิศตะวันออก คือ ธัญบุรี เสาหลาเมืองตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าตลาดรังสิต ใช้ชื่อว่า ศาลหลักเมืองรังสิต
เหตุการณ์ที่ชาวรังสิตได้โอกาสได้รับเสาหลักเมืองมาสร้างไว้ที่ศูนย์การค้าตลาดรังสิต การสร้างศาลหลักเมืองรังสิตไว้ให้มั่นคง เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวรังสิต พร้อมทั้งให้เกิดความรัก สามัคคีให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่เมืองด้วย
เนื่องจากปี พ.ศ.2521 นายพิจิตร จินดาน้อม ได้เป็นคณะกรรมการจังหวัดปทุมธานี ในการจัดสร้างเสาหลักเมือง มาพบคุณสายสุคนธ์ หวั่งหลี เพื่อมาปรึกษาที่จะอัญเชิญเสาหลักเมือง มุมเมืองทิศตะวันออก มาประดิษฐานให้อยู่ที่ศูนย์การค้าตลาดรังสิต คุณสายสุคนธ์ หวั่งหลี ท่านยินดีมาก และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศูนย์การค้าตลาดรังสิต
ประวัติความเป็นมา ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ตลาดรังสิต ตลาดรังสิตเริ่มขึ้นโดยเจ้าของที่ดินคือ คุณนายทองพูล หวั่งหลี มีความคิดก้าวไกลต้องการพัฒนาที่ดินรังสิต สมัยนั้นท่านจึงแบ่งที่ดิน ให้ชาวบ้านเป็นแปลงๆ จัดทำถนนให้เสร็จ เพื่อจะได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยกันเองเพื่อให้เกิดเป็นชุมชน สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวรังสิต คือ ท่านได้มอบที่ดินให้หน่วยงานราชการเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียนประชาธิปัตย์วิทยาคาร สถานีตำรวจประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ มูลนิธิสิริวัฒนา เชสเชียร์ ท่านสร้างทานอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ชาวรังสิต และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับประโยชน์ถึงทุกวันนี้
ตึกแถวริมคลองรังสิตปัจจุบัน คือผลงานอีกชิ้นหนึ่งของท่าน เพราะการสร้างตึกแถวสมัยนั้นแข็งแรงมาก ผู้ที่เป็นเจ้าของตึกแถวในยุคนั้น ปัจจุบันยืนยันว่า แม้เวลาจะผ่านไป 50 ปีก็ยังคงมีสภาพที่แข็งแรงอยู่
ยุคต่อมาบริหารงานโดย คุณสายสุคนธ์ หวั่งหลี ลูกสาวคุณนายทองพูล หวั่งหลี การจราจรทางน้ำเปลี่ยนเป็นการจราจรทางบก มีถนนตัดใหม่เพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานราชการ ถนนพหลโยธินเป็นถนนเส้นหลักขึ้นสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก รังสิตเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ท่านจึงสร้างตึกแถว ขึ้นริมถนนพหลโยธิน สร้างเมื่อปี 2511 เสร็จเรียบร้อยในปี 2512 เมื่อมีผู้มาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็มีการสร้างตลาดสด ตลาดผ้า เพิ่มขึ้น ท่านพัฒนาที่ดินรังสิตตลอดเวลาขณะนั้นธุรกิจซื้อง่าย ขายคล่อง ทุกคนที่อยู่ตลาดรังสิตมีคำพูด ติดปากว่า "ผู้ที่อยู่ตลาดรังสิต รวยทุกคน กินดี อยู่ดี มีความสุข"
ส่วนที่พักทางใจของชาวจีนรังสิต ท่านก็จัดที่ดินส่วนหนึ่งร่วมสร้างศาลเจ้ารังสิต (ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ตลาดรังสิต) ใกล้กับบริเวณศาลหลักเมืองรังสิต ทำให้ชาวจีนรังสิตซาบซึ้งน้ำใจของท่านมาก
สุดาลักษณ์ พยัตเทพินทร์
ตำนานเจ้าพ่อเสือ มีตำนานเล่าว่า เดิมหลังวัดมหรรณพารามเป็นที่รกร้างป่าดง ได้มีเสืออาศัยอยู่และบริเวณนั้นก็มีบ้านคน แม่ลูกคู่หนึ่ง คือ นางผ่องกับนายสอน วันหนึ่งลูกชายไปหาอาหารในป่าแล้วถูกเสือกัดแขนขาด ส่วนเสือก็ถูกนายสอนแทงที่หน้าและต้นคอ ระหว่างสู่กันเขาก็ได้กระโดดลงน้ำและรอให้เสือไป จึงตะเกียกตะกายกลับบ้าน เมื่อแม่รู้เข้าจึงแจ้งความที่อำเภอเพื่อออกล่าเสือมาลงโทษ ครั้งพอจะออกล่าเสือก็ไปขอพรหลวงพ่อพระร่วงที่โบสถ์ขอให้จับเสือได้ง่าย และจับมาได้อย่างง่ายดายและนำตัวมาประหาร นางผ่องเห็นเสือน้ำตาไหลด้วยความสงสารจึงขอให้ยกเสือเป็นลูกแทน เสือตัวนั้นอยู่กับยายผ่องจนกระทั่งยายผ่องได้เสียชีวิตลง โดยชาวบ้านได้ทำเชิงตะกอนเผาศพยายผ่อง ขณะที่ไฟลุกไหม้อยู่นั้นเสือก็กระโจนเข้าไปในกองไฟตายตามยายผ่องไป ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลใกล้กับวัด โดยเอากระดูกเสือบรรจุไว้ในแท่นนั้น พร้อมอัญเชิญดวงวิญญาณเสือให้มาสถิตอยู่ในศาล เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลนี้คนจีนเรียก เสี่ยงเทียนเสี่ยงตี่โกเบี่ย แปลว่า ศาลโบราณขององค์เสี่ยนเทียนซั่งตี่ ซึ่งภาษาไทย หมายความว่า เจ้าพ่อเสือ ความศักดิ์สิทธิ์ คนจีนส่วนใหญ่จะมาไหว้ เจ้าพ่อใหญ่ หรือ ตั่งเหล่าเอี๊ยะกง เป็นหลัก เจ้าพ่อเสือเป็นองค์รอง
ศาลเจ้าพ่อเสือเมืองใหม่รังสิต ศาลเจ้าพ่อเสือเมืองใหม่รังสิต แต่เดิมศาลได้ตั้งให้ชาวชุมชนกรุงเทพเมืองใหม่หรือโครงการกรุงเทพเมือง ได้สักการบูชานั้น จะเป็นตลาดสดซึ่งปัจจุบันคือห้างสรรพสินค้าแมคโคร สาขารังสิต ศาลเก่าได้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งได้อ้างอิงจากป้ายของศาลเก่าที่ปัจจุบันได้เก็บไว้ ต่อมามีการย้ายศาลมาตั้ง ณ ซอยพหลโยธิน 119 (ข้างสนามมวยรังสิต) ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ในปัจจุบัน และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาจนปัจจุบันทุกวันนี้ ภายในเป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐาน เฮียงเทียนเซียงตี่, รูปเจ้าพ่อเสือ ,เจ้าแม่กวนอิม และเจ้าที่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและจีนเป็นอย่างมาก และทางศาลเจ้าได้มีการจัดงานสมโภชน์องค์เจ้าพ่อเป็นประจำทุกปี
ประวัติของตั่วเหล่าเอี๊ย ท่านเหิ่ยงเทียนเสี่ยงตี่ วิสุทธิเทพบดี (ตั่วเหล่าเอี๊ย ) ยุดเขียว บรรพกาลล่วงมาแล้ว เมืองลกฮง กึงตัง ประเทศจีน ยังมีมานพหนุ่มรูปร่างกำยำใหญ่ผู้หนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นคนฆ่าหมูและวัวส่งไปยังตลาดเพื่อจำหน่าย คืนหนึ่งเกิดนิมิตฝันเห็นนักพรตแต่งตัวแบบนักบวชเต๋ามาหา และบอกให้เขาวางมือจากการฆ่าสัตว์ได้แล้ว ว่ามานพมิได้เกิดมาเพื่อการนี้ แต่ท่านเกิดมาเพื่อสร้างบารมี ควรหันมาบำเพ็ญธรรมแล้วจะสำเร็จ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา มานพหนุ่มประหลาดใจในนิมิตฝันนั้น จึงปรึกษาหารือกับมารดา เพราะเขาเป็นบุตรกำพร้า บิดาเสียแต่เขายังเยาว์วัย มีเพียงมารดาที่เลี้ยงดูอบรมเขามา มารดาปกติเป็นคนใจบุญ จิตใจมีเมตตา จึงเห็นด้วยกับความฝันของผู้เป็นบุตร ทั้งสองจึงยุติการฆ่าสัตว์ขายอันเป็นอาชีพของมานพหนุ่ม
เมื่อตั้งใจบำเพ็ญปฏิบัติธรรมไปได้ 3-4 วัน นักพรตที่นิมิตฝันก็มาปรากฏกายที่หน้าบ้าน ถามมานพหนุ่มว่า เขาตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะบำเพ็ญพรตให้สำเร็จหรือยัง มานพหนุ่มตอบตกลงทันที และจัดการทรัพย์สินรวบรวมเป็นเงินก้อนหนึ่งไว้เลี้ยงดูมารดาผู้ชรา แล้วเก็บข้างของออกเดินทางตามนักพรตขึ้นเขาไปบำเพ็ญพรต ด้วยความมานะ ตั้งใจหมั่นปฏิบัติบำเพ็ญ แต่การปฏิบัติก็ไม่มีความก้าวหน้าประสบผลแต่อย่างไร ศิษย์ที่มาใหม่ต่างสำเร็จไปก่อนเขา ทำให้มานพหนุ่มรู้สึกเสียใจ ท้อใจ วันหนึ่งจึงถามท่านนักพรตผู้อาจารย์ว่า เขาจะมีวันสำเร็จธรรมไหม ท่านอาจารย์ตอบแก่เขาว่า ตราบใดที่ภายในของเขา ยังสีดำอยู่ ก็อย่าถามถึงความสำเร็จเลย พอกลับไปถึงห้องพัก มานพหนุ่ม ครุ่นคิดอย่างหนัก อีกทั้งเสียใจข้องใจในคำพูดของอาจารย์ว่า ภายในของเขา สีดำ นั้นหมายความว่าอย่างไร เพราะเขามีความตั้งใจมั่นมาบำเพ็ญธรรม ก็เพื่อความสำเร็จ ถ้าภายใน คืออุปสรรค เขาก็ยินดีพลีชีพเพื่อบูชาธรรมที่หวังจะสำเร็จนั้น ๆ
คิดได้ดังนั้น เขาก็คว้ามีดขึ้นมาคว้านท้อง ลากไส้และกระเพาะออกมา พอเครื่องในเหล่านั้นหลุดพ้นจากร่าง เขาก็รู้สึกตัวเบา และบรรลุธรรมทันที เนื่องเพราะอาชีพที่ฆ่าสัตว์มามาก และมานพหนุ่มเอาชีวิตตนแลกธรรม เพื่อทดแทนบาปเคราะห์กรรม ที่มาเป็นอุปสรรคขัดขวางการบำเพ็ญได้สำเร็จ อาจารย์นักพรตทราบความ เร่งรุดมาที่ห้องพักมานพหนุ่ม เข้าช่วยเหลือรักษา พยาบาลจนมานพหนุ่มเป็นปกติโดยท้องมานพหนุ่มปราศจากลำไส้ และกระเพาะ แต่มิเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต เพราะฌานสมาบัติแห่งธรรม หล่อเลี้ยงรักษาให้เป็นอยู่ เมื่อสำเร็จธรรม นักพรตเห็นสมควรที่ท่านจะลงจากเขาไปโปรดผู้คน ก่อนจากกันท่านอาจารย์ได้มอบธงให้มานพหนุ่มผืนหนึ่ง เป็นสีขาว มานพจัดเตรียมสัมภาระลงเขาโดยเอากระเพาะและลำไส้ของเขาที่ตากแห้ง เก็บไว้นำติดตัวลงมาด้วย ครั้นเดินทางถึงตีนเขา ได้ยินเสียงร้องอย่างเจ็บปวดของหญิงสาวจึงเข้าไปดู พบหญิงท้องแก่กำลังจะคลอดบุตร มานพบอกแก่หญิงคนนั้นว่า ท่านเป็นผู้ชายและเป็นนักบวช มิใช่หน้าที่ ที่จะช่วยการคลอดได้ ได้แต่มอบธงผืนที่อาจารย์มอบให้แก่หญิงคนนั้น เพื่อรองรับเด็กทารก หญิงคนนั้นคลอดบุตรออกมาอย่างปลอดภัย เมื่อตัดสายสะดือเช็ดคราบเลือดแล้ว ยกทารกน้อยอุ้มขึ้นในอ้อมกอด หญิงคนนั้นได้ขอบใจท่านมานพหนุ่ม และส่งคืนธงที่เปื้อนเลือดแก่ท่าน
มานพหนุ่มจึงนำธงไปล้างที่ชายคลอง พอธงจุ่มลงในน้ำ น้ำในคลองพลันเปลี่ยนเป็นสีดำทันทีรวมทั้งธงของเขาก็กลายเป็นสีดำด้วย โดยไม่ได้ระวัง ระหว่างที่ล้าง กระเพาะและลำไส้ที่เก็บไว้ชายพกตกลงไปในน้ำ เขาก็คิดว่าดีเหมือนกัน ไม่ต้องเป็นภาระเก็บรักษาอีกต่อไป มานพหนุ่มลงเขาโปรดผู้คนอยู่ จวบจนสิ้นวาระขัยจากมนุษย์โลก ไปเสวยทิพย์สมบัติ องค์เง็กเซียนฮ่องเต้จ้าวแห่งสวรรค์ โปรดประทานยศให้เป็น ผู้ตรวจการภพสาม ตำแหน่ง เฮียงเทียนเสี่ยงตี่ ผู้พิชิตมาร โดยมีธงเทพโองการดำเป็นอาญาสิทธิ์ ธงสีดำเป็นสัญลักษณ์ของท่าน เป็นธงบัญชาการของเจ้า หรือเทพพรหม มีลัญจกรอยู่ในธง อาญาสิทธิ์เฉียบขาด มีแม่ทัพทั้ง 5 เป็นบริวาร กล่าวถึงกระเพาะและลำไส้ที่ตกลงไปในน้ำ เกิดสัตว์ประหลาดสองตัว สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน และได้ทำลายพืชพรรณ กินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ชาวบ้านบวงสรวงเซ่นไหว้ เหล่าเทพเจ้าขอความคุ้มครองปกปักรักษา เทพผู้พิทักษ์จึงรายงานขึ้นทูลเง็กเซียนฮ่องเต้ เง็กเซียนฮ่องเต้จึงมีพระบัญชาให้ ผู้พิชิตมาร เฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ ลงมาปราบสัตว์ประหลาดทั้งสอง พอพบสัตว์ประหลาดทั้งสอง จึงทราบว่าเป็นกระเพาะและลำไส้ของตนที่ปีศาจร้ายเข้าไปสิงสถิตอยู่นั่นเอง กระเพาะกลายเป็นเต่า และลำไส้กลายเป็นงู ท่านจึงกระโดดลงยืน เท้าข้างหนึ่งเหยียบเต่า และเท้าอีกข้างเหยียบงูไว้ สยบสัตว์ปีศาจร้ายทั้งสองจนหมดฤทธิ์ ชาวบ้านเลื่อมใส ศรัทธา จึงจัดสร้างศาลเจ้าและรูปปั้นท่านขึ้นบูชาสัญลักษณ์ของท่านจึงกลายเป็นเท้าเหยียบเต่าเหยียบงู และธงของท่านเป็นสีดำ ตำแหน่งตั่วเหล่าเอี๊ย ปักเก็กจิงบู้เฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่ โดยมีเสือเป็นบริวารพาหนะ ที่ผู้คนกราบไหว้นับถือจนมาถึงทุกวันนี้หน้าที่ผู้พิชิตมาร ดูแล ปกป้อง สืบสาน ศาสนจักร อาณาจักร ให้ดำรงมั่น
วิชัย สุขสวัสดิ์ มูลนิธิชุมชนไทย แหล่งที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน 22 กันยายน 2546
ประวัติศาลหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี
ศาลหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี ได้เริ่มทำพิธีสะเดาะพื้นที่ที่จะสร้างศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ และเมื่อวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ตรงกับเวลา ๑๕.๐๐ น. เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ได้เสด็จมา ทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์หลักเมือง ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี
ซึ่งทางกรมศิลปากร ได้เป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมือง ซึ่งทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ที่ทางกรมป่าไม้ได้นำมาจากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์มอบให้ ครั้นเมื่อประดิษฐ์เสร็จเรียบร้อยแล้วได้นำเข้าพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลาฤกษ์ ๐๘.๒๙ น. และในคืนนี้เวลาประมาณ ๕ ทุ่ม (๒๓.๐๐ น.) ได้เกิดจันทรคราสจับครึ่งดวงเป็นที่น่าอัศจรรย์
เมื่อสร้างตัวศาลหลักเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี
ไม้ชัยพฤกษ์จากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นไม้มงคลอย่างยิ่ง ได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างดี ลำต้นใหญ่ เมื่อกรมศิลปากรออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมืองปทุมธานีแล้ว ยังมีส่วนเหลือของลำต้นที่สวยงามของไม้ชัยพฤกษ์ คณะกรรมการดำเนินงานจึงดำริจัดสร้างเสาหลักเมืองอีกสี่มุมเมือง
เสาหลักเมืองทุกมุมทิศของจังหวัดปทุมธานี ในการนี้จึงได้กำหนดให้
อำเภอหนองเสือ เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองมุมทิศเหนือ
อำเภอลาดหลุมแก้ว เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองมุมทิศตะวันตก
อำเภอธัญบุรี (รังสิต) เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองมุมทิศตะวันออก
อำเภอลำลูกกา เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองมุมทิศใต้
เทวดาผู้ปกป้องรักษาศาลหลักเมืองทุกมุมทิศของจังหวัดปทุมธานี
ศาลหลักเมืองหลัก-อ.เมือง ท่านศรีวิมุติ
ทิศเหนือ-อ.หนองเสือ ท่านศรีสุวรรณ
ทิศตะวันตก-อ.ลาดหลุมแก้ว ท่านศรีรังสรรค์
ทิศตะวันออก-อ.ธัญบุรี (รังสิต) ท่านศรีรามภพ
ทิศใต้-อ.ลำลูกกา ท่านศรีพยัพ
ศาลหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดปรางค์ มีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวง เหนือขึ้นไปเป็นฐานกลีบบัวรองรับมณฑป มีซุ้มประตูทั้ง ๔ ทิศ ประตูเข้า-ออก ได้ ๓ ประตู ประตูด้านหลังของมณฑปปิดทึบบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วย เครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี
ภายในมณฑปประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นดอกบัวรองรับ หัวเสาแกะเป็นลูกบัวแก้ว และเสาหลักเมืองจำลองทั้ง ๙ องค์ในลักษณะแบบเดียวกัน
ด้านในศาลหลักเมืองยังตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และด้านหลังตรงกลางเป็นรูปหล่อโลหะ พระกาฬไชยศรี ประทับบนหลังนกแสก ด้านขวาเป็น พระเสื้อเมือง รูปเทวดาสวมมงกุฎ พระหัตถ์ขวาถือคฑา ด้านซ้ายเป็น พระสยามเทวาธิราช รูปเทวดาสวมมงกุฎ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์
ปัจจุบันศาลหลักเมืองตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี มีผู้คนมากราบไหว้บูชากันอยู่มิได้ขาด นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวปทุมธานี ให้มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันให้แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบันชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักของชาวไทย