คู่มือการเลี้ยงไส้เดือนดิน

สื่อเผยแพร่อื่นๆ



ความเป็นมา

     การเจริญเติบโตของชุมชนเมืองและการเพิ่มจำนวนประชากรส่งผลให้มีปริมาณมูลฝอยจากชุมชนที่ต้องนำไปกำจัดเพิ่มมากขึ้น การกำจัดมูลฝอยส่วนใหญ่ในประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาดำเนินการโดยวิธีการเทกองกลางแจ้ง ซึ่งไม่ถูกหลักสุขาภิบาลและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงได้มาก ในช่วงประมาณ 10-15 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดการมูลฝอยในชุมชนต่างๆ โดยการก่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยด้วยใช้วิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อรองรับปริมาณมูลฝอยจากชุมชนที่เพิ่มมากขึ้นและลดผลกระทบที่เกิดจากการกำจัดมูลฝอยอย่างไม่ถูกหลักสุขาภิบาล อย่างไรก็ตาม ผลกระทบประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการย่อยสลายทางชีวภาพ ไม่ว่าดำเนินการด้วยวิธีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลหรือการเทกองกลางแจ้งคือ การแพร่ระบายของก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในมูลฝอยโดยจุลินทรีย์ ก๊าซชีวภาพดังกล่าวมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจัดเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases)
            
ที่เป็นสาเหตุที่สำคัญในการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบรรยากาศโลก พื้นที่กำจัดมูลฝอยเหล่านี้จัดเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะการเกิดก๊าซมีเทนซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มอุณหภูมิของบรรยากาศโลกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า
     ดร.เดชา กลิ่นกุสุม รองนายกเทศมนตรีนครรังสิต ได้ศึกษาการใช้ไส้เดือนกำจัดมูลฝอยอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้ใช้บ้านพักส่วนตัวเป็นแหล่งเรียนรู้ ทดลอง ศึกษาการกินมูลฝอยอินทรีย์ของไส้เดือน ต่อมาเทศบาลนครรังสิตได้จัดอบรมชุมชนนำร่องในเขตเทศบาลที่ใช้ไส้เดือนกำจัดมูลฝอยอินทรีย์ ปรากฏว่าไส้เดือนสายพันธุ์ขี้ตาแร่สามารถกำจัดมูลฝอยที่เป็นสารอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลอดเวลาสองปีที่ผ่านมา ท่านได้พัฒนาการเลี้ยง การดูแล การให้อาหารจนเกิดเป็นภูมิปัญญาของการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ ฝ่ายรักษาความสะอาดได้รวบรวมภูมิปัญญา ภูมิความรู้จัดทำเป็นคู่มือการเลี้ยงไส้เดือนกำจัดมูลฝอยอินทรีย์ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นแนวทางการเลี้ยงอย่างง่าย ซึ่งเป็นทางเลือกของการลดมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดที่มีประสิทธิผล โดยหากประชาชนร่วมใจกันกำจัดมูลฝอยอินทรีย์ลดการนำไปฝังกลบย่อมส่งผลต่อการลดก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน